เริ่มสตาร์ทอัพให้ปัง! ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี

ณิชกานต์ ศิริพจนากุล
23 Aug 2024 669 11 นาที


Seed-Stage Venture Investing: An Insider’s Guide to Start-Ups for Scientists, Engineers, and Investors 
เขียนโดย Jonathan G. Lasch and William L. Robbins

รีวิวหนังสือโดย ธนรรภรณ์ เศรษฐ์จินดา (อาจารย์แนน)
อาจารย์พิเศษ บัณฑิตวิทยาลัยบริหารจัดการธุรกิจและเทคโนโลยีขึ้นสูง มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ


 Seed-Stage Venture Investing: An Insider’s Guide to Start-Ups for Scientists, Engineers, and Investors 

           เป็นผลงานเขียนของ William L. Robbins และ Jonathan G. Lasch PhD ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารกองทุน Convergent Ventures มุ่งเน้นการลงทุนในสตาร์ทอัพระยะเริ่มต้นที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงจาก โครงการวิจัยทางวิชาการและนำมาพัฒนาต่อยอดเชิงพาณิชย์ โดยผู้เขียนทั้งสองท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญในแวดวงวิชาการ มีความคุ้นเคยกับกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการผลักดันเทคโนโลยีออกจากโครงการวิจัย ทั้งจากมุมมองของนักวิชาการและมุมมองของผู้บริหารกองทุน จึงมีความตั้งใจที่จะส่งต่อ ประสบการณ์ ข้อคิด เทคนิคต่างๆ รวมถึงความท้าทายที่ ผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีสายวิชาการ จะต้องเผชิญในการสร้างธุรกิจแห่งโลกอนาคต ผ่านหนังสือเล่มนี้ 

           เมื่อเห็นแวบแรกอาจดูเหมือนเนื้อหาหนักหน่วง พอได้เปิดอ่านจริงๆ จะพบว่า ผู้เขียนได้เรียบเรียงเนื้อหาออกเป็น 19 บท ครอบคลุมกระบวนการสร้างธุรกิจ ตั้งแต่การทำความเข้าใจวิถีโลกของเทคสตาร์ทอัพ การจัดการธุรกิจ และกระบวนการต่างๆ ทั้งภายในภายนอก ไปจนถึงวันที่ต้องปิดกิจการ โดยเนื้อหาในแต่ละบท กระชับ ตรงประเด็น และมีความยาวเพียง 3-5 หน้า สามารถเลือกอ่านตามบทที่สนใจ ข้ามไปมาได้ ส่วนผู้อ่านที่สนใจรายละเอียดตัวอย่างเอกสารสัญญาต่างๆ สามารถดูตัวอย่างได้ในส่วนท้ายเล่ม

           ถึงแม้ว่าหนังสือได้รับการตีพิมพ์เป็นเวลากว่า 10 ปี มาแล้ว  เนื้อหาส่วนใหญ่สามารถสะท้อนภาพความท้าทายในโลกการระดมทุนและการสร้างธุรกิจได้ดี เช่น วัฏจักรการระดมทุนสตาร์ทอัพที่มีทั้งช่วงขาขึ้นและขาลง ส่งผลให้ความคาดหวังของนักลงทุนที่เปลี่ยนไป ตามช่วงเวลา หรือแม้แต่การทดสอบความตั้งใจของผู้เชี่ยวชาญทางวิชาการว่า ท่านพร้อมที่จะรับความเสี่ยงในเส้นทางการเป็นผู้ประกอบการ โดยแลกกับอาชีพการงานที่มั่นคงและมีเกียรติจริงๆ หรือไม่ เพราะในความเป็นจริงแล้วสิ่งที่จะเกิดขึ้นนั้นห่างไกลจากความสมบูรณ์แบบที่คุ้นเคยกันในภาพยนตร์ 

           เมื่อได้เห็นภาพดังนี้แล้ว ในบทต่อๆ ไปจะสะท้อนให้เห็นว่าการทำธุรกิจมีรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย ทั้งด้านกฎหมาย ภาษี การบริหารจัดการระบบงานต่างๆ รวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ร่วมก่อตั้ง ทีมงาน นักลงทุน องค์กรภายนอก และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ประกอบการจะพบว่า ไม่ว่าธุรกิจจะเริ่มต้นมาดีแค่ไหน ก็จะต้องเผชิญปัจจัยต่างๆ ที่อยู่เหนือความควบคุม ซึ่งในบางครั้งอาจทำให้การเดินทางสู่เป้าหมายล่าช้า หรือไปไม่ถึงเลย อาทิ

            - การขออนุญาตนำโครงการวิจัยมาใช้ในเชิงพาณิชย์ จะผ่านต้องติดต่อหน่วยงานที่ดูแลทรัพย์สินทางปัญญาของทางมหาวิทยาลัย ซึ่งมักจะมีข้อตกลง และเอกสารที่ได้รับการอนุมัติจากฝ่ายกฎหมายของทางมหาวิทยาลัยเรียบร้อย ซึ่งหากผู้ประกอบการต้องการแก้ไขข้อความใดๆ ในสัญญานั้น ก็จะทำให้ขั้นตอนการขออนุมัติใช้เวลานานมากขึ้นไปอีก ซึ่งบางครั้งอาจจะกินเวลาเป็นปีๆ

            - ในการเขียนโครงการเพื่อขอทุนสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ หลายๆครั้ง ผู้ประกอบการมักจะใส่ข้อมูลด้านเทคโนโลยีมากเกินไป และไม่สามารถอธิบายการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในเชิงพาณิชย์ที่ทำให้เห็นภาพว่าเทคโนโลยีนั้นมีประโยชน์ในวงกว้าง (Impact) อย่างไร ซึ่งประเด็นหลังนี้ ถือเป็นปัจจัยหลักในการให้พิจารณาทุนสนับสนุน และมักเป็นสาเหตุที่ทำให้โครงการพลาดเป้าการขอทุนจนไม่สามารถไปต่อได้

             - เช่นเดียวกับการระดมทุนกับกลุ่มนักลงทุน ผู้ประกอบการอาจจะให้น้ำหนักกับเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย แต่อาจไม่ได้ศึกษาความต้องการของตลาดให้ลึกพอ และอาจมองข้ามความจริงที่ว่า เทคโนโลยีนั้นยังไม่มีความต้องการที่แท้จริง ซึ่งมักเป็นหนึ่งในสาเหตุของทางตันในการระดมทุน

            - สำหรับเทคสตาร์ทอัพแล้ว ความร่วมมือกับองค์กรพันธมิตร (Corporate Partners) มักเป็นหนึ่งในเส้นทางการเติบโตและที่มาของเงินทุนสนับสนุน แต่ทว่าโครงสร้าง วิธีการทำงาน และเป้าหมายการดำเนินธุรกิจในองค์กรขนาดใหญ่ อาจทำให้การติดต่อประสานงานจำเป็นต้องใช้เวลา ทั้งในการพิจารณาความร่วมมือต่างๆ ที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานภายในหลายฝ่าย รวมถึงการทำข้อตกลงใดๆ ที่ต้องผ่านการพิจารณาและอนุมัติของกรรมการบริหาร ซึ่งในที่สุดแผนการที่ตั้งไว้อาจจะไม่ได้เริ่มต้น หรืออยู่ภายใต้เงื่อนไขที่สตาร์ทอัพไม่ได้รับประโยชน์เท่าที่ควร เป็นต้น

           นอกเหนือจากประเด็นต่างๆ ที่กล่าวมานี้ ผู้เขียนได้แทรก Check list หรือ คำแนะนำต่างๆ ในแต่ละช่วงตามที่เหมาะสม ในบทท้ายๆ ผู้เขียนเล่าถึงประสบการณ์การลงทุนในสตาร์ทอัพช่วงเริ่มต้น ซึ่งมีบริษัทหนึ่งทำท่าเหมือนจะเติบโตต่อไปได้ดี ซึ่งทำให้ผู้อ่านได้ทำให้เห็นภาพว่า ในบางครั้งความสำเร็จอาจจะหมายถึงการล้มเลิกความฝัน การหยุดจากสิ่งที่ไปต่อไม่ได้ เพื่อเริ่มต้นเส้นทางเดินใหม่ ดังเช่นวัฏจักรของธุรกิจที่มีทั้งการเริ่มต้น เติบโต ถดถอย ปรับตัว ตั้งต้นใหม่ เช่นนี้เอง 
หากท่านกำลังมองหาบันทึกการปั้นธุรกิจสาย Deep Tech จากโครงการวิชาการ หนังสือเล่มนี้ รอท่านอยู่ที่ ห้องสมุดมารวย

ธนรรภรณ์ เศรษฐ์จินดา (อ.แนน)
อาจารย์พิเศษ บัณฑิตวิทยาลัยบริหารจัดการธุรกิจและเทคโนโลยีขึ้นสูง 
มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ

           หากท่านเป็นผู้ประกอบการหรือมีความสนใจในธุรกิจสตาร์ทอัพ และต้องการต่อยอดความรู้เกี่ยวกับสตาร์ทอัพ สามารถอ่านบทความ “ทำอย่างไรถ้าเกิดว่า..สตาร์ทอัพไปไม่ถึงฝัน” ที่เรียบเรียงใจความสำคัญจาก "What to Do if your Start-up Fails" จากหนังสือ Seed-Stage Venture Investing เล่มเดียวกันนี้ เพื่อเตรียมพร้อมและรับมือกับอุปสรรคและความท้าทายในโลกของสตาร์ทอัพได้อย่างมั่นใจ 

อ่านบทความ “ทำอย่างไรถ้าเกิดว่า..สตาร์ทอัพไปไม่ถึงฝัน”  ที่เขียนโดยโดย ดร. ธนรรภรณ์ เศรษฐ์จินดา


The Stock Exchange of Thailand and the companies in SET Group uses cookies to provide you with a better browsing experience. Click here for detailed information on the use of cookies on this site, and how you can manage them.